มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ร่วมกับ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 18 อุดรธานี ขับเคลื่อน ‘เครดิตแบงก์’ เล็งปั้นแรงงานรองรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทรวิทย์ อยู่วัฒนะ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาจังหวัดอุดรธานี ดร.วลีรัตน์ แสงไชย รองผู้อำนวยการฯ ฝ่ายวิชาการ อาจารย์ศรายุทธ ขวัญเมือง รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการพิเศษ อาจารย์ภิรายุ แสนบุดดา หัวหน้าสาขาการจัดการโลจิสติกส์ และอาจารย์ประจำสาขาการจัดการโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ประชุมร่วมกับ นายอนุชิต ดรกันยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 18 อุดรธานี พร้อมคณะ
เพื่อหารือความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรและยกระดับฝีมือแรงงาน โดยใช้ระบบธนาคารสะสมหน่วยกิต หรือ เครดิตแบงก์ (CREDIT BANK)
ด้วย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานวางแผนพัฒนาทักษะอาชีพตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย มีเป้าหมายให้กำลังคนในกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา แรงงาน ประชาชนทั่วไป ตลอดจนกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ได้เพิ่มพูนความรู้ พัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ ต่อยอดการเรียนรู้ ประสบการณ์ สู่คุณวุฒิการศึกษา ปริญญาในทุกระดับ และเป็นการสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาทักษะฝีมือของกำลังคนทุกกลุ่มในด้านต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น โดยใช้ระบบธนาคารสะสมหน่วยกิต (CREDIT BANK) เพื่อให้ผู้ที่ผ่านการอบรม ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้นำประสบการณ์และความสามารถที่มีใบรับรองต่าง ๆ เข้าในระบบแล้วสามารถเทียบหน่วยกิตจากการอบรมได้ หรือสามารถนำมาใช้ประโยชน์เกี่ยวกับค่าจ้างตามฝีมือได้
การประชุมหารือในวันนี้ ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณารายละเอียด ขั้นตอน และวิธีการในการใช้ระบบธนาคารสะสมหน่วยกิต และมีความเห็นร่วมกันในการพัฒนาหลักสูตรในกลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมนำร่องที่จะมีการเทียบหน่วยกิตเพื่อบรรจุในระบบธนาคารสะสมหน่วยกิต เนื่องจากจังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลางการคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจ เส้นทางยุทธศาสตร์ CLMV โดยมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อกับจังหวัดหนองคาย ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว นครหลวงเวียงจันทน์ และสามารถเชื่อมโยงไปถึงประเทศเวียดนาม นอกจากนี้อุดรธานี ยังเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจและการคมนาคมเป็นจุดเชื่อมโยง GMS มีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี เจ้าพระยา แม่โขง ACMECS อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงจากประเทศจีนผ่านเวียงจันทน์ หนองคายมายังจังหวัดอุดรธานีและมีโครงการ
ก่อสร้างรถไฟทางคู่เพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุน การกระจายสินค้าจากจังหวัดอุดรธานีสู่จังหวัดอื่น ๆ และภูมิภาคอาเซียน และนโยบายพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการสนับสนุนการพัฒนาฝีมือแรงงาน และด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับกำลังคนในพื้นที่โดยเร็ว